ระบบการแสดงผลข้อมูล

การขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ในระดับพื้นที่

สภาพัฒน์ จัดประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานเพื่อเดินหน้าขับเคลื่อนการแก้ปัญหาเยาวชนกลุ่ม  NEETs  ในระดับพื้นที่

เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2567 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้จัดประชุมคณะทำงานด้านการส่งเสริมเยาวชนนอกระบบการศึกษา การทำงาน และการฝึกอบรม (Youth Not in Education Employment or Training: NEETs) ครั้งที่ 1/2567 โดยมี นายวันฉัตร  สุวรรณกิตติ  รองเลขาธิการ สศช. เป็นประธาน และนางสาวศศิธร  พลัตถเดช   ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน เป็นรองประธานคณะทำงานฯ พร้อมด้วยคณะทำงานฯ ผู้แทนจาก สศช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ผู้แทนสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กรมกิจการเด็กและเยาวชน องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF)  เข้าร่วมการประชุม 
 
กองศึกษาและวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ (กศว.) สศช. ได้นำเสนอสถานการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งตัวเลขล่าสุดจาก ILOStat พบว่า ในปี 2566 ประเทศไทยมีเยาวชนกลุ่ม NEETs อยู่ที่ประมาณ 1.2 ล้านคน หรือร้อยละ 12.5 ของเยาวชนอายุ 15-24 ปีทั้งหมด ซึ่งเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับเป้าหมายของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ที่ต้องการลดสัดส่วนเยาวชน NEETs ให้เหลือร้อยละ 5 รวมถึงแผนปฏิบัติราชการกระทรวงแรงงานที่กำหนดเป้าหมายลดจำนวนเยาวชนกลุ่ม NEETs 100,000 คนภายในปี 2570 ถือเป็นความท้าทายยิ่งในการมุ่งสู่เป้าหมายดังกล่าว
 
กศว. โดยการสนับสนุนจาก UNICEF จึงได้ริเริ่มโครงการ  “Reintegration of Youth NEETs Under the 13th National Economic and Social Development Plan”    โดยประยุกต์ใช้กรอบ 4 ขั้นการพัฒนา ประกอบด้วย การค้นหา (Mapping) การเข้าถึง (Outreach) การจุดประกาย (Preparation) และการอบรมและทำงาน (Offer) จากโครงการ Youth Guarantee ที่ประสบความสำเร็จในการลดเยาวชนว่างงานในหลายประเทศของยุโรปมาทดลองนำร่องการแก้ปัญหาเยาวชน NEETs โดยมี  ต.นาพู่ อ.เพ็ญ จ.อุดรธานี และทุกตำบลใน อ.ลำทะเมนชัย จ.นครราชสีมา   ร่วมเป็นพื้นที่นำร่อง ซึ่งทั้งอุดรธานีและนครราชสีมา ถือเป็นจังหวัดที่มีสัดส่วน NEETs สูงเป็นอันดับที่ 2 และ 3 ของประเทศ 
 
การทดลองนำร่องที่นาพู่ เริ่มดำเนินการตั้งแต่ช่วงต้นปี 2566 ปัจจุบันเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการสามารถกลับเข้าสู่การศึกษา การทำงาน และการฝึกอบรมได้เกือบทั้งหมด โดยมี มรภ.ราชภัฏอุดรธานี และ อบต.นาพู่ เป็นผู้ประสานการทำงานหลัก และบูรณาการการทำงานร่วมกับภาคีการพัฒนาที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และองค์กรระหว่างประเทศ ขณะที่การขับเคลื่อนในพื้นที่ อ.ลำทะเมนชัย ปัจจุบันอยู่ในขั้นของการค้นหา (Mapping) โดยมุ่งเน้นการเก็บข้อมูลที่เป็นระบบ ครอบคลุมทั้งเยาวชนกลุ่ม NEETs ผู้ปกครอง และสมาชิกในครัวเรือน เพื่อให้การออกแบบแนวทางการสนับสนุนในระยะต่อไปเป็นไปได้อย่างตรงจุด
 
ที่ประชุมฯ ได้ร่วมหารือถึงบทเรียนจากนาพู่และลำทะเมนชัย ซึ่งมีข้อค้นพบที่น่าสนใจหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น 1) กลไกระดับพื้นที่ถือว่ามีความสำคัญ จำเป็น แต่ไม่เพียงพอ โดยต้องได้รับการสนับสนุนจากกลไกระดับนโยบายด้วย อาทิ การเพิ่มกลุ่ม NEETs เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของการฝึกทักษะแรงงานในกลุ่มเปราะบาง การเชื่อมโยงกลไกการแก้ปัญหา NEETs ไปกับมาตรการ Thailand Zero Dropout เพื่อให้ครอบคลุมทั้งการป้องกันและการแก้ปัญหา 2) การแก้ปัญหา NEETs ในระดับพื้นที่ สามารถใช้การเชื่อมโยงบริการและมาตรการที่มีอยู่เดิมของหน่วยงานต่าง ๆ โดยมีผู้รับผิดชอบติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด (Case Manager) 3) การเพิ่มความยั่งยืนให้การดำเนินงานด้วยการผลักดันให้ประเด็นเรื่อง NEETs เป็นส่วนหนึ่งของแผน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แผนพัฒนาระดับพื้นที่ และกลไกประจำ อาทิ ศจพ. และ 4) ระบบข้อมูลและการติดตามประเมินผล จะช่วยสนับสนุนให้การดำเนินงานเป็นไปได้อย่างมุ่งเป้า มีประสิทธิภาพ และสามารถนำไปสู่การขยายผลได้
 
นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังได้หารือถึงแนวทางการทำงานร่วมกันในระยะต่อไป อาทิ การสนับสนุนข้อมูลเพื่อรวบรวมมาตรการของหน่วยงานที่มีอยู่ เพื่อให้การเชื่อมโยงบริการและส่งต่อกลุ่มเป้าหมายระหว่างหน่วยงานเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ การร่วมคัดเลือกพื้นที่นำร่องที่ 3 ซึ่งจะนำเอาโมเดลการแก้ปัญหา NEETs จากนาพู่และลำทะเมนชัยไปประยุกต์ใช้ รวมถึงการเชื่อมโยงเครือข่ายการทำงานด้าน NEETs ทั้งในแวดวงนักวิชาการ ผู้ปฏิบัติงาน และผู้มีบทบาทเกี่ยวข้องต่อไป
 
ข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับโครงการ: https://www.thairath.co.th/news/local/2804823 
https://www.bangkokpost.com/life/social-and-lifestyle/2842232/bridging-dreams
 
ข่าว  กองศึกษาและวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ (กศว.) 
ภาพ  เมฐติญา  วงษ์ภักดี