ระบบการแสดงผลข้อมูล

การขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ในระดับพื้นที่

สภาพัฒน์จัดเวทีระดมภาคีเครือข่ายร่วมขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯ  ฉบับที่  13  สู่การปฏิบัติ  ในระดับพื้นที่และตำบล

ในวันที่ 11 กันยายน 2566 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้จัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 สู่การปฏิบัติ ในระดับพื้นที่และตำบล    ร่วมกับภาคีเครือข่ายพัฒนา ณ โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท กรุงเทพมหานคร และผ่านช่องทางเฟซบุ๊กไลฟ์ทางเพจสภาพัฒน์ เพื่อเสริมสร้างความรู้เข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ในระดับพื้นที่และตำบลให้แก่ภาคีเครือข่ายการพัฒนาจากภาคส่วนต่าง ๆ รวมทั้งเพื่อระดมความเห็นต่อประเด็นการพัฒนาและพื้นที่นำร่องสำหรับแต่ละหมุดหมายที่ภาคีการพัฒนาจะร่วมกันขับเคลื่อนในช่วงปีงบประมาณ 2567 
 

ในช่วงเช้า  นายวันฉัตร สุวรรณกิตติ   รองเลขาธิการ สศช. ได้ชี้แจงความสำคัญและรูปแบบของการขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ผ่านกลไกเชิงพื้นที่ รวมถึงความเชื่อมโยงของกลไกเชิงพื้นที่กับกลไกเชิงยุทธศาสตร์และกลไกเชิงภารกิจในการขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 หลังจากนั้น ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 3 ท่าน ประกอบด้วย  รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล  ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  นายกฤษดา สมประสงค์  ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และ   ดร.ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร  ได้เสวนาร่วมกันในหัวข้อ  “เครื่องมือและกลไกเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนแผนพัฒนา ฉบับที่ 13 ในระดับพื้นที่และตำบล”    โดยผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 3 ท่าน ได้กล่าวถึงบทบาทของเครื่องมือและกลไกต่าง ๆ ที่สามารถสนับสนุนภาคีการพัฒนาต่าง ๆ ในการนำกลยุทธ์การพัฒนาของ 13 หมุดหมายในแผนพัฒนาฯ 13 ไปดำเนินการในระดับพื้นที่และตำบล ได้แก่ กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) เครือข่ายองค์กรชุมชน และเทคโนโลยีสารสนเทศและข้อมูล ตลอดจนวิธีการที่ภาคีการพัฒนาต่าง ๆ จะนำเครื่องมือและกลไกดังกล่าวไปใช้ปประโยชน์

การเสวนาในช่วงที่ 2 เป็นการนำเสนอตัวอย่างของการขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ในระดับพื้นที่และตำบล ในประเด็นการส่งเสริมเยาวชนนอกระบบการศึกษา การทำงาน และการฝึกอบรม (Youth Not in Education Employment or Training: NEETs) ให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา หรือได้รับการพัฒนาทักษะอาชีพและเข้าสู่ตลาดแรงงานได้  ซึ่งได้ดำเนินการในพื้นที่นำร่องตำบลนาพู่ อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี โดยผู้ทรงคุณวุฒิที่มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนจำนวน 4 ท่าน ประกอบด้วย ดร.เอกราช ดีนาง   รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี  นายอำนวย อินทรธิราช   นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาพู่ จังหวัดอุดรธานี  นายเฉลิมภัทร์ วุฒิวัฒน์   ผู้จัดการศูนย์อบรมสยามคูโบต้า บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด และนางสาววิลสา พงศธร    เจ้าหน้าที่พัฒนาวัยรุ่นและการมีส่วนร่วม องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ประเทศไทย 

 

ในช่วงบ่าย ผู้เข้าร่วมประชุมหารือร่วมกันใน 13 กลุ่มย่อย ซึ่งแบ่งตาม 13 หมุดหมายของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 เพื่อกำหนดประเด็นการพัฒนาและพื้นที่นำร่องที่เหมาะสมในแต่ละหมุดหมาย ซึ่งภาคีการพัฒนาจากภาคส่วนต่าง ๆ จะดำเนินการร่วมกันในช่วงปีงบประมาณ 2567 รวมถึงเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างเครือข่ายผู้ขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ในแต่ละหมุดหมาย ในระดับพื้นที่และตำบล ร่วมกันต่อไป
 
ข่าว : กองศึกษาและวิจัยเชิงยุทธศาสตร์
ภาพ : เมฐติญา  วงษ์ภักดี